โรคคลั่งผอมกับวัยรุ่น

“โรคคลั่งผอม” เป็นโรคความผิดปกติทางการกิน บางคนเรียกว่า โรคกลัวอ้วน เป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วย มีความผิดปกติทางพฤติกรรมการกิน ร่วมกับความผิดปกติทางความคิด และทางอารมณ์

โดยผู้ที่เป็นโรคนี้ มักจะกลายเป็นผู้ที่มีความคิดวนเวียนเกี่ยวกับอาหาร น้ำหนักตัว รูปร่าง และอาจมีการรับรู้รูปร่างที่แท้จริงของตัวเองผิดเพี้ยนไป โดยมักมีความคิดว่าตัวเองอ้วนกว่าความเป็นจริง และพยายามที่จะลดน้ำหนักหรือคุมน้ำหนักด้วยวิธีการที่ผิดไปจากปกติ

ใครจะเป็นโรคคลั่งผอมได้บ้าง

โรคคลั่งผอม พบได้บ่อยในช่วงวัยรุ่นตอนต้นไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อัตราส่วนประมาณ 9:1 โดยมักพบในวัยรุ่นที่มีความสมบูรณ์แบบสูง ขาดความนับถือตนเองที่ดี หรืออยู่ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก ทำให้รู้สึกไม่ดีกับรูปร่างของตนเองอยู่เสมอ คนเหล่านี้มักมองตัวเองอ้วนหรือน้ำหนักเกินอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่น้ำหนักมักจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ กลัวน้ำหนักขึ้นอย่างมาก ในช่วงต้นผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มักไม่รู้ตัวว่าป่วย

โรคคลั่งผอม อะนอเร็กเซีย (Anorexia Nervosa) พบได้บ่อยประมาณ 1:100 ในผู้หญิง ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ เช่น กินน้อย นับแคลอรี่อาหารที่กินแทบทุกอย่าง พยายามหลีกเลี่ยงอาหารพลังงานสูง ชั่งน้ำหนักตัวบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการกินอาหารกับผู้อื่น เข้าห้องน้ำหลังทางอาหารเสร็จทันที (เพื่ออาเจียนออก) หรือออกกำลังกายหักโหม เพื่อเผาผลาญแคลอรี่

และมักมีการรับรู้รูปร่างของตนเองผิดไปจากความเป็นจริง โดยมีลักษณะสำคัญ คือ..

จำกัดการรับสารอาหาร นำไปสู่น้ำหนักตัวที่น้อย
มีความกลัวอย่างมากที่น้ำหนักจะขึ้น
มีการรับรู้รูปร่างของตนเองผิดไป เช่น คิดว่าตัวเองอ้วนมาก ทั้งๆ ที่น้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐาน

โดยอาจพบอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ผมร่วง ผิวแห้ง มีขนอ่อนขึ้นตามตัว อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ท้องอืด ท้องผูก ซีด ความดันต่ำ หัวใจเต้นช้า ขี้หนาว อารมณ์เปลี่ยนแปลง ซึมเศร้า อาจเสียชีวิตได้จากการฆ่าตัวตายหรือหัวใจล้มเหลว

การรักษาโรคคลั่งผอม

โรคคลั่งผอม เป็นโรคที่รักษาได้ แต่เป็นโรคที่รักษาไม่ง่ายนัก เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคมักไม่รู้ตัว หรือไม่ค่อยให้ความร่วมมือในการรักษา การรักษาควรทำโดยทีมแพทย์สหสาขาวิชาชีพ โดยมีกุมารแพทย์ หรืออายุรแพทย์ ดูแลร่วมกับจิตแพทย์/นักจิตวิทยา และนักโภชนาการ

การรักษาเริ่มแรกคือการให้สารอาหารกลับเข้าไปเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เพื่อให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยการรักษาโรคคลั่งผอมจะรักษาอาการทางกาย ร่วมไปกับการรักษาทางจิตบำบัด เพื่อการปรับทัศนคติ การเข้าใจความรู้สึกและความคิดที่นำไปสู่พฤติกรรมการเกิดโรค

รวมถึงการรักษาโรคทางอารมณ์และจิตใจที่อาจพบร่วม เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า เป็นต้น ในรายที่มีอาการทางร่างกายที่รุนแรง เช่น ความดันต่ำ อุณหภูมิต่ำ ชีพจรเต้นช้า หรืออาการของโรคเป็นมากจนการรักษาแบบผู้ป่วยนอกไม่ได้ผล ควรรับการรักษาในโรงพยาบาล

ที่มาข้อมูล : www.thaipbskids.com
หากสนใจเรื่องราวอื่น ๆ สามารถติดตามอ่านต่อได้ที่ tremollett.com